วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555



การสอนตามแนวสื่อสารคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

          การ สอนตามแนวสื่อสารได้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรก ในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปในช่วงปี 1970 การสอนตามแนวสื่อสารเกิดขึ้นในยุโรป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้อพยพเข้าไปอาศัยในยุโรปเป็นจำนวนมาก สมาพันธ์ยุโรป (Council of Europe) จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาที่สองแบบเน้นหน้าที่และสื่อ ความหมาย (functional national syllabus design) เพื่อช่วยให้ผู้อพยพสามารถใช้ภาษาที่สองในการสื่อสาร ในส่วนของอเมริกาเหนือไฮมส์ (Hymes) ได้ใช้คำว่า ความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (communicative competence) หมายถึงความสามารถในการปฎิสัมพันธ์ หรือปะทะสังสรรค์ทางด้านสังคม (social interaction) ซึ่งความสามารถทางด้านภาษาที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถที่จะพูด หรือเข้าใจคำพูดที่อาจไม่ถูกหลักไวยากรณ์ แต่มีความหมายเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่คำพูดนั้นถูกนำมาใช้ (Savignon, 1991)

          การ สอนภาษาแบบสื่อสาร (Communicative Language Teaching - CLT) คือแนวคิดซึ่งเชื่อมระหว่างความรู้ทางภาษา (linguistic knowledge) ทักษะทางภาษา (language skill) และความสามารถในการสื่อสาร (communicative ability) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โครงสร้างภาษาเพื่อสื่อสาร (Canale & Swain, 1980 ; Widdowson, 1978). คเนล และสเวน (1980) และเซวิกนอน (Savignon, 1982) ได้แยกองค์ประกอบของความสามารถในการสื่อสารไว้ 4 องค์ประกอบ ดังนี้

          1. ความสามารถทางด้านไวยากรณ์หรือโครงสร้าง (grammatical competence) หมายถึงความรู้ทางด้านภาษา ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ โครงสร้างของคำ ประโยค ตลอดจนการสะกดและการออกเสียง

          2. ความสามารถด้านสังคม (sociolinguistic competence) หมายถึงการใช้คำ และโครงสร้างประโยคได้เหมาะสมตามบริบทของสังคม เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การถามทิศทางและข้อมูลต่าง ๆ และการใช้ประโยคคำสั่ง เป็นต้น

          3. ความสามารถในการใช้โครงสร้างภาษาเพื่อสื่อความหมายด้านการพูด และเขียน (discourse competence) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมระหว่างโครงสร้างภาษา (grammatical form) กับความหมาย (meaning) ในการพูดและเขียนตามรูปแบบ และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

          4. ความสามารถในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย (strategic competence) หมายถึงการใช้เทคนิคเพื่อให้การติดต่อสื่อสารประสบความสำเร็จโดยเฉพาะการ สื่อสารด้านการพูด ถ้าผู้พูดมีกลวิธีในการที่จะไม่ทำให้การสนทนานั้นนั้นหยุดลงกลางคัน เช่นการใช้ภาษาท่าทาง (body language) การขยายความโดยใช้คำศัพท์อื่นแทนคำที่ผู้พูดนึกไม่ออก เป็นต้น

          จะ เห็นได้ว่า CLT ไม่ได้ละเลยโครงสร้างทางไวยากรณ์ แต่ในการสอนโครงสร้างทางไวยากรณ์ต้องเน้นการนำหลักไวยากรณ์เหล่านี้ไปใช้ เพื่อการสื่อความหมายหรือการสื่อสารคเนล และสเวน (Canale & Swain, 1980) อธิบายไว้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของกฎเกณฑ์และโครงสร้างทางภาษา ถ้าปราศจากกฎเกณฑ์ และโครงสร้างแล้วความสามารถทางการสื่อสารของผู้เรียนจะถูกจำกัด ดังนั้น ความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (fluency) และความถูกต้องในการใช้ภาษา (accuracy) จึงมีความสำคัญเท่ากัน




บทบาทของผู้เรียน (learner roles)

           บรีนและแคนดริน (อ้างใน Richards & Rodgers, 1995) อธิบายบทบาทของผู้เรียนตามแนว CLT ผู้เรียนคือผู้ปรึกษา (negotiator) การเรียนรู้เกิดจากการปรึกษาหารือในกลุ่มผู้เรียน โดยผู้สอนจัดกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จุดมุ่งหมายหลักในการทำกิจกรรมกลุ่มคือมุ่งให้ผู้เรียนช่วยเหลือซึ่งกันและ กัน รู้จักการให้พอ ๆ กับการรับ
บทบาทของครู (teacher roles)

           ครูมีบทบาทที่สำคัญ 3 บทบาท คือผู้ดำเนินการ (organizer, facilitator)เตรียมและดำเนินการจัดกิจกรรม ผู้แนะนำหรือแนะแนว (guide) ขั้นตอนและกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นผู้วิจัยและผู้เรียน (researcher, learner) เรียนรู้พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนแต่ละคน นอกจากนั้นครูอาจมีบทบาทอื่น ๆ เช่น ผู้ให้คำปรึกษา(counselor) ผู้จัดการกระบวนการกลุ่ม (group process manager) ครูตามแนวการสอนแบบCLT เป็นครูที่เป็นศูนย์กลางน้อยที่สุด (less teacher centered) นั่นคือครูมีหน้าที่ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อการสื่อสารและในช่วงที่นัก เรียนทำกิจกรรมครูจะกระตุ้นให้กำลังใจช่วยเหลือให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารให้ได้ความหมายและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อันเป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างความสามารถทางไวยากรณ์ (grammar competence) และความสามารถทางด้านสื่อสาร (communicative competence) ของผู้เรียน
บทบาทของสื่อการเรียนการสอน (the role of instructional materials)

การ สอนตามแนว CLT จำเป็นที่ต้องใช้สื่อที่หลากหลาย เพราะสื่อมีความสำคัญต่อการเรียนแบบปฏิสัมพันธ์หรือการเรียนแบบร่วมมือและ การฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร สื่อที่สำคัญ 3 อย่างที่ใช้สำหรับการสอนตามแนว CLT ได้แก่ เนื้อหา (text-based) งาน/กิจกรรม (task-based) ของจริง(realia)

        - เนื้อหา (text-based material) ในปัจจุบันมีตำราเรียนจำนวนมากมายที่สอดคล้องกับการเรียน/สอนตามแนว CLT ซึ่งการออกแบบตำราเรียนกิจกรรมและเนื้อหาแตกต่างจากตำราที่แต่งขึ้นมาเพื่อ สอนไวยากรณ์ ยกตัวอย่าง แบบเรียน CLT จะไม่มีแบบฝึกหัด (drill) หรือโครงสร้างประโยคส่วนมากแบบเรียนที่เน้น CLT จะประกอบไปด้วยข้อมูลในรูปต่าง ๆ เช่น การจัดสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติหรือกิจกรรมคู่ หรืออาจกำหนดเรื่อง (theme) ที่จะเรียนแล้วมีกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่อง นั้น ๆ

         - งาน/กิจกรรม (task-based material) เกมส์ต่าง ๆ บทบาทสมมุติ การเลียนแบบ และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมการสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูล (gap conversation) กิจกรรม Jigsaw ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทำงานเป็นกลุ่มร่วมมือกัน

         - สื่อที่เป็นของจริง (realia) CLT เน้นการใช้สื่อที่เป็นของจริง (authentic material) เช่น ป้ายประกาศโฆษณา หนังสือพิมพ์รูปภาพ แผนที่ เป็นต้น